สปสช.ย้ำเปลี่ยนแหล่งเงินดูแลโควิด-19 ไม่กระทบการให้บริการประชาชน
สปสช.ย้ำการเปลี่ยนแหล่งงบประมาณสำหรับโรคโควิด-19 จาก พ.ร.ก.เงินกู้ มาเป็นงบปกติของ สปสช. ไม่กระทบกับการให้บริการประชาชน แนะถ้ามีอาการให้ติดต่อหน่วยบริการใกล้บ้านรับการรักษาตามระบบปกติ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกเครือข่ายบัตรทองให้ไปเมื่อมีอาการฉุกเฉิน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2565 เป็นต้นมา สปสช. ได้มีการปรับระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 โดยเปลี่ยนแปลงที่มาของงบประมาณที่จ่ายสำหรับโรคนี้ จากเดิมที่จัดสรรมาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ เป็น ใช้เงินจากงบประมาณประจำของ สปสช. ที่ยังเหลืออยู่ แต่จะไม่กระทบกับการให้บริการประชาชน รวมทั้งขอแนะนำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไปรับการรักษาตามระบบที่ตนมีสิทธิ หากเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท นอกจากจะเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำของตนแล้ว ยังเข้ารักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่งตามนโยบาย 30 รักษาทุกที่ รวมถึงเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่ายระบบบัตรทอง ซึ่งก็คือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบ ควรเข้ารับบริการในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นหลัก
"เหตุที่ต้องเปลี่ยนแหล่งที่มาของงบประมาณเกี่ยวกับโควิด-19 เพราะตอนเกิดการระบาด หน่วยบริการเตรียมเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยโควิดและเลื่อนการให้บริการผู้ป่วยปกติออกไป ทำให้มีงบปกติที่จัดเตรียมไว้เหลืออยู่ และเราก็รู้ว่าการใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ เป็นภาระของรัฐบาล ดังนั้น เมื่อ สปสช.มีงบเหลือพอจะใช้จ่ายได้ เราจึงเปลี่ยนมาใช้งบประมาณปกติแทน และในกรณีที่งบประมาณปกติไม่เพียงพอ รัฐบาลก็ยินดีสนับสนุนเพิ่มเติมให้ ดังนั้นประชาชนจึงไม่ต้องกังวลและไม่กระทบกับการให้บริการ" นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า การกลับมาใช้งบปกติสำหรับโรคโควิด-19 จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการให้บริการในบางรายการ เช่น การยกเลิกการจ่ายค่าตรวจคัดกรองโควิด-19 แก่โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบ ส่วนโรงพยาบาลในระบบ ยังคงให้บริการเหมือนเดิม ถ้ามีอาการสงสัยหรือเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงตามหลักเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ต้องการตรวจ ATK หรือตรวจแล้วติดเชื้อโควิด-19 ต้องไปรับการรักษา สปสช.ยังคงตามจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ แก่หน่วยบริการ
"ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบจะเรียกเก็บเงินจาก สปสช.ได้ในกรณีการให้บริการฉุกเฉิน ซึ่งส่วนใหญ่คืออาการเชื้อลงปอด แต่ถ้าไม่มีอาการ เราแนะนำให้ประชาชนรักษาตามระบบ ใครใช้ประกันสังคมก็ใช้สิทธิตามระบบประกันสังคม ถ้าสิทธิบัตรทอง โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งอยู่ในระบบบัตรทองทั้งหมด รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนอีกบางส่วน สามารถเข้าไปรับบริการได้ตามระบบ ซึ่งจะมีสถานบริการใกล้บ้านที่ผู้ใช้สิทธิลงทะเบียนไว้อยู่แล้ว หรือถ้าไม่รู้ว่าไปที่ไหนได้บ้างก็สามารถโทรมาที่สายด่วน 1330 หรือถ้าบ้านอยู่ที่หนึ่งแล้วมาทำงานอีกที่ ก็ไปใช้บริการในพื้นที่นั้นได้ตามนโยบายยกระดับบัตรทองซึ่งสามารถไปรับบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้" นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับความพร้อมของระบบบริการหลังจากเปลี่ยนมาใช้สิทธิตามระบบ กระทรวงสาธารณสุขได้ยืนยันว่ามีความพร้อม ขณะนี้ผู้ป่วยที่มารับบริการส่วนมากจะเป็นแบบ "เจอแจกจบ" แต่เพื่อความมั่นใจ สปสช. ยังคงเตรียมงบประมาณสำหรับการดูแลแบบ Home Isolation หรือ Home Ward สำหรับกรณีที่ต้องนอนโรงพยาบาลแล้วเตียงในโรงพยาบาลไม่พอ หรือผู้ป่วยไม่สะดวกนอนโรงพยาบาล แพทย์สามารถสั่งให้ไปรับการรักษาแบบ Home Isolation หรือ Home Ward ที่บ้านได้ สปสช.จะตามจ่ายให้เช่นเดิม
“ขณะที่สายด่วน สปสช. 1330 ยังให้บริการช่วยเหลือประชาชน อย่างไรก็ตามเมื่อติดโควิดแล้วไม่จำเป็นต้อง โทร.แจ้งสายด่วน 1330 แต่หากมีข้อสงสัยว่าเมื่อติดเชื้อโควิดจะต้องทำอย่างไร โทร.มาสอบถามขั้นตอนได้ หรือหากมีอาการแย่ลง ต้องการประสานหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลก็โทรมาได้เช่นกัน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
////////////6 กรกฎาคม 2565